เทพเจ้าจีน
เทพเจ้าจีน

วันสารทจีนนั้น ว่ากันตามปฏิทินทางจันทรคติแล้ว จะตรงกับวันที่ 15 เดือน 7 ตามปฏิทินแบบจีน เทศกาลสารทจีนถือว่าเป็นวันสำคัญที่เหล่าลูกหลานชาวจีนจะแสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษของตน โดยพิธีเซ่นไหว้  นอกจากนั้น ยังเชื่อกันว่าเป็นเดือนที่ประตูนรกเปิดให้วิญญาณต่าง ๆ ที่รับกรรมในนรกมารับกุศลผลบุญอีกด้วย

ตำนานวันสารทจีน มีกล่าวไว้ 2 ตำนาน

ตำนานที่ 1

ได้กล่าวไว้ว่าวันสารทจีนนั้นคือเป็นวันที่เงี่ยมล้อเทียนจือ (ไทยเราเรียกยมบาล) ได้ตรวจดูบัญชีวิญญาณคนตาย เพื่อส่งวิญญาณดีขึ้นสวรรค์และส่งวิญญาณร้ายใช้กรรมในนรก ชาวจีนมีความสงสารวิญญาณร้ายเหล่านั้น จึงพากันทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ เพื่อให้วิญญาณร้ายเหล่านั้นได้ออกมารับกุศลผลบุญ

ตำนานที่ 2

มีเรื่องเล่าว่า มีชายหนุ่มผู้หนึ่งมีชื่อว่า “มู่เหลียน” (พระมหาโมคคัลลานะ) เป็นคนที่เคร่งครัดในพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก ซึ่งผิดกับมารดาของตนที่เป็นคนใจบาปหยาบช้า ที่ไม่เคยเชื่อเรื่องบาปบุญคุณโทษ ไม่เชื่อเรื่องนรก-สวรรค์มีจริง ต่อมาในปีหนึ่งช่วงเทศกาลกินเจมาถึง นางได้เกิดความหมั่นไส้เหล่าคนที่นุ่งขาวห่มขาวถือศีลกินเจ นางจึงให้มู่เหลียนบุตรชายตนไปเชิญผู้ถือศีลกินเจเหล่านั้นมาทานอาหารที่บ้านของตน 

ผู้ถือศีลกินเจเหล่านั้นต่างพลอยยินดีที่ทราบข่าวว่านางเกิดศรัทธาในบุญกุศลครั้งนี้ จึงได้พากันมากินอาหารที่บ้านของนางตามคำเชิญของมู่เหลียน แต่หาทราบไม่ว่านางได้ใส่น้ำมันหมูเจือลงในน้ำแกงเจนั้นด้วย ซึ่งการกระทำของนางนั้น ตามคติความเชื่อในการกินเจถือว่าเป็นกรรมหนัก เมื่อนางตายไปจึงตกนรกอเวจีมหานรกขุมที่ 8 ซึ่งถือว่าเป็นนรกขุมลึกที่สุดต้องได้รับความทุกข์ทรมานเป็นอย่างมาก

เมื่อมู่เหลียนผู้เป็นบุตรชายที่มีความกตัญญูรู้คุณคิดถึงมารดา ก็ได้ถอดกายทิพย์ลงไปนรกภูมิ จึงได้รู้ว่ามารดาของตนที่รับผลกรรมอยู่กำลังอดอยากจึงป้อนอาหารแก่มารดา แต่ก็ได้ถูกเหล่าภูตผีที่อดอยากมารุมแย่งไปกินหมด  แม้แต่เม็ดข้าวสุกที่ป้อนให้มารดานั้นก็กลับเป็นไฟเผาไหม้ที่ริมฝีปากของนาง แต่ด้วยความกตัญญูของมู่เหลียน  เขาจึงได้เข้าไปพบพญาเหงี่ยมล่ออ๊อง (ยมบาล) เพื่อขอรับโทษแทนมารดา

แต่ก่อนที่มู่เหลียนจะถูกลงโทษแทนมารดาด้วยการนำร่างลงไปต้มในกระทะทองแดงเดือด พระพุทธองค์ได้เสด็จลงมาโปรดไว้ได้ทัน โดยตรัสว่ากรรมใดใครก่อก็ย่อมจะเป็นกรรมของผู้นั้นและพระพุทธองค์ได้มอบคัมภีร์อิ๋ว หลันเผิน ให้แก่มู่เหลียนท่องเพื่อเรียกเหล่าเซียนทุกทิศทุกทางมาช่วยผู้มีพระคุณให้หลุดพ้นจากการอดอยากและทุกข์ทรมานต่าง ๆ ได้ โดยที่มู่เหลียนเองจะต้องสวดคัมภีร์อิ๋ว หลันเผินและถวายอาหารทุกปีในเดือนที่ประตูนรกเปิดจึงจะสามารถช่วยมารดาของเขาให้พ้นโทษได้

นับแต่นั้นมา เหล่าชาวจีนจึงได้ถือเป็นประเพณีที่ปฏิบัติสืบต่อมา ด้วยการเซ่นไหว้ โดยจะนำอาหารคาวหวาน และกระดาษเงินกระดาษทองไปวางไว้ที่หน้าบ้านของตนหรือตามทางแยกที่ไม่ไกลนัก มีนัยว่าเพื่อเป็นการเบี่ยงเบนความสนใจของเหล่าวิญญาณเร่ร่อนที่กำลังจะผ่านมาใกล้ที่พักของตนเอง

ชุดของไหว้ในเทศกาลสารทจีนนั้น แบ่งออกเป็น 3 ชุด ดังนี้

1. ชุดสำหรับไหว้เจ้าที่
ไหว้ในตอนเช้า ซึ่งมีอาหารคาวหวาน กุยช่าย ส่วนขนมไหว้พิเศษซึ่งเป็นประเพณีของสารทจีนคือขนมเทียน ขนมเข่ง มีการแต้มจุดสีแดงไว้ตรงกลาง ตามความเชื่อของชาวจีนที่ว่าสีแดงเป็นสีแห่งความเป็นศิริมงคล นอกจากนี้ ก็ยังมีผลไม้ น้ำชา หรือเหล้าจีน กระดาษเงินกระดาษทอง

2. ชุดสำหรับไหว้บรรพบุรุษ
จะคล้ายกับของไหว้เจ้าที่และกับข้าวที่บรรพบุรุษของตนชอบ ตามธรรมเนียมนิยมต้องมีน้ำแกงหรือขนมน้ำใส ๆ วางข้างชามข้าวสวย ชุดน้ำชาจัดตามจำนวนของบรรพบุรุษ ที่ขาดไม่ได้ก็คือขนมเทียน ขนมเข่ง ผลไม้และกระดาษเงินกระดาษทอง

3. ชุดสำหรับไหว้สัมภเวสี
สัมภเวสีในที่นี้ ได้แก่วิญญาณที่เร่ร่อนหรือวิญญาณที่ไม่มีญาติ  หรือ ไป๊ฮ๊อเฮียตี๋ แปลว่า ไหว้พี่น้องที่ดี ถือว่าเป็นการสะท้อนความสุภาพและให้เกียรติของคนจีน ที่เรียกผีไม่มีญาติว่าพี่น้องที่ดี โดยการไหว้นั้นจะไหว้นอกบ้านของไหว้สัมภเวสีจะมีทั้งของคาวหวานและผลไม้ตามต้องการ ที่พิเศษคือมีข้าวหอมแบบจีนโบราณ คอปึ่ง เผือกนึ่งผ่าซีกเป็นเสี้ยวใส่ถาด เส้นหมี่ห่อใหญ่ เหล้า น้ำชา กระดาษเงินกระดาษทองจัดทุกอย่างวางอยู่ด้วยกันสำหรับเซ่นไหว้สัมภเวสี

ขนมที่ใช้ไหว้ในวันสารทจีน
แต่โบราณมาชาวจีนนิยมใช้ขนมไหว้ 5 อย่าง เรียกว่า โหงวเปี้ย หรือเรียกชื่อเป็นชุดว่า ปัง เปี้ย หมี่ มั่ว กี

ปัง คือขนมทึงปัง ซึ่งเป็นขนมที่ทำมาจากน้ำตาล
เปี้ย คือขนมหนึงเปี้ย คล้ายกับขนมไข่
หมี่ คือขนมหมี่เท้า ซึ่งทำมาจากแป้งข้าวเจ้าข้างในไส้เต้าซา
มั่ว คือขนมทึกกี่ ซึ่งเป็นขนมข้าวพองสีแดงตรงกลางมีไส้เป็นแผ่นบาง
กี คือขนมทึงกี ขนมนี้ทำเป็นชิ้นใหญ่ยาวเวลาจะกินต้องตัดเป็นชิ้นเล็ก ๆ
ส่วนชาวไทยเชื้อสายจีนใช้ขนมเทียน ขนมเข่งในการไหว้ โดยหลักของที่ไหว้ก็จะมีของคาว 3 หรือ 5 อย่าง เช่น ไก่ หมู เป็ด ไข่ หมึก ปลา เป็นต้น ของหวาน 3 หรือ 5 อย่าง เช่น ขนมเทียน ขนมมัดไต้ ขนมถ้วยฟู หรือขนมสาลี่ปุยฝ้าย ขนมเปี๊ยะ ส้ม หรือผลไม้ตามฤดูกาล

สำหรับวันสารทจีนในปี พ.ศ.2561 นี้ ตรงกับ วันเสาร์ที่ 25 สิงหาคม พ.ศ.2561 / วันจีน 15 (十五) เดือน 7 (七月大) ปีจอ (狗)

พระเครื่อง